Similan และ Indian Ocean Dipole

Indian Ocean Dipole หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IOD เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำอุ่นในมหาสมุทรอินเดียไปรวมตัวกันที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งในมหาสมุทรอินดีย ปีนี้ (พ.ศ 2563) เป็นปีที่น้ำอุ่นไปรวมตัวทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียส่งผลให้น้ำทะเลในฝั่งอันดามันเย็นกว่าปกติ การรวมตัวของน้ำอุ่นทางตะวันตกเราถือว่าเป็นขั้วบวก (Positive Phase) หากรวมตัวทางตะวันออก คือทางฝั่งอันดามันของไทยจะถือเป็นขั้วลบ (Negative Phase)

กระแสน้ำเย็นในทะเลลึกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พัดพาแร่ธาตุและอาหารขึ้นมา แพลงตอนจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทำให้น้ำทะเลฝั่งอันดามันเป็นสีเขียวแทนที่จะเป็นสีฟ้าอย่างในเวลาปกติ และนำพาสัตว์ทะเลลึกหายากให้เข้ามายังบริเวณแนวปะการังอีกด้วย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอุณหภูมิน้ำที่เย็นกว่าในช่วงเวลาปกติ จากเดิมที่ อุณหภูมิของน้ำทะเลอยู่ในช่วง 28-29 องศาเซลเซียส สามารถดำน้ำได้อย่างสบายๆ แต่ช่วงนี้อุณหภูมิลดลงไปอยู่ที่ 24-25 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว การลงดำน้ำในแต่ละครั้งก็เลยหนาวสั่นอยู่ไม่น้อย

ส่วนน้ำทะเลที่เขียว และขุ่น สามารถมองเห็นตะกอนลอยในน้ำด้วยตาเปล่า ถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอก็ติดเข้ามาจนยากที่จะหลีกเลี่ยง ทุกๆ ไดฟ์ขุ่นและเขียวแต่ทว่ามีเอกลักษณ์พิเศษให้รู้ว่าเป็นน้ำทะเลของปีนี้