ทุกคนควรจะสามารถเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จได้ นั่นคือแรงจูงใจสำคัญของ Emma Svensson เธอเริ่มถ่ายภาพงานคอนเสิร์ตเมื่อ 20 ปีก่อน ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่มีใครเห็นเธออยู่ในสายตาเลย แต่เธอก็ได้พิสูจน์ว่าทุกคนคิดผิด เธอเริ่มสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้น ซึ่งต่อมาได้เติบโตเป็นเอเจนซี่ตัวแทนช่างภาพที่ประสบความสำเร็จหลายราย และมีบริษัทรับถ่ายภาพเป็นของตัวเอง ซึ่งว่าจ้างช่างภาพหญิงเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ในชีวิตส่วนตัว เธอก็ได้ผลักดันขีดจำกัดด้วยการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในยุโรป ซึ่งเธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถทำทุกอย่างได้สำเร็จเหมือนกับผู้ชาย ‘ผู้หญิงไม่ควรคิดว่าตัวเองด้อยกว่าผู้ชาย’
เธอยังจดจำช่วงเวลาที่เธอเริ่มหลงรักการถ่ายภาพได้ ‘เมื่อตอนอายุสิบเอ็ด ฉันไปเจอกล้องวิดีโอของพ่อแม่ มันกลายเป็นของเล่นชิ้นโปรด และฉันใฝ่ฝันว่าอยากเป็นผู้กำกับ’ แต่เพื่อนบ้านของเธอที่อยู่ในหมู่บ้านชาวสวีเดนเล็กๆ แนะนำเธอว่าไม่ควรทำงานเป็นช่างภาพเพราะอาชีพนี้มีการแข่งขันสูง การทำงานหาเงินจากอาชีพนี้เป็นเรื่องยาก ‘ฉันเลยไม่ได้ถ่ายภาพไปนานหลายปี ตอนที่ฉันไปงานคอนเสิร์ตเมื่อปี 2002 ฉันได้พกกล้องไปด้วย และถึงแม้ฉันจะไม่เคยถ่ายภาพงานคอนเสิร์ตมาก่อน แต่เมื่อฉันเริ่มถ่ายภาพ ฉันก็รู้ทันทีว่านี่คือสิ่งฉันควรจะทำ นี่คือรักแรกพบ’
ในช่วงที่อินเตอร์เน็ตกำลังเฟื่องฟู ‘มีเว็บไซต์มากมายที่มีข้อความเกี่ยวกับเพลง แต่ไม่มีรูปงานคอนเสิร์ตมากนัก ฉันเลยเริ่มสร้างเว็บไซต์ขึ้น การเป็นช่างภาพหญิงในโลกที่ผู้ชายวัยกลางคนเป็นใหญ่ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบากมากในตอนนั้น ไม่มีใครเห็นฉันอยู่ในสายตาเลย พวกเขาไม่ทักทายฉันด้วยซ้ำ ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าหลังเวทีที่มีกลุ่มผู้ชายพบปะพูดคุยกันเพราะว่าฉันเป็นผู้หญิง แต่ฉันก็หาทางโพสต์ภาพถ่ายจำนวนมากบนเว็บไซต์ของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วฉันก็เชิญชวนช่างภาพวัยรุ่นที่มีความทะเยอทะยานให้มาร่วมงานกับฉัน ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เป็นที่สังเกต มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับเริ่มใช้ภาพถ่ายของเรา และเราก็ได้พัฒนามาเป็นเอเจนซี่ที่ประสบความสำเร็จ ช่างภาพอาวุโสไม่ชอบเรา ช่างภาพของเราชนะรางวัลภาพถ่ายงานคอนเสิร์ตที่ดีที่สุดติดต่อกันถึงสิบห้าปี พวกเขาบางคนก็กลายเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ ขณะที่บางคนก็เป็นนักตัดต่อภาพ หรือทำงานในแกลเลอรี่ ฉันภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมเล็กๆ ในความสำเร็จของพวกเขา’ในฐานะที่เป็นครูสอนถ่ายภาพ เธอสังเกตเห็นว่าแม้นักเรียนการถ่ายภาพ 80 เปอร์เซ็นต์จะเป็นผู้หญิง แต่หลังจากที่เรียนจบแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ของงานด้านการถ่ายภาพตกเป็นของผู้ชาย ‘ตัวแทนและผู้ที่ถูกว่าจ้างล้วนเป็นผู้ชายทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วยกับความลำเอียงนี้และพยายามสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงแม้มันจะนําปัญหาที่ไม่จบสิ้นมาให้กับฉัน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า ช่างภาพวัยรุ่นหญิงหลายคนยังขอบคุณในสิ่งที่ฉันทำอีกด้วย พวกเขาได้รับกำลังใจในการทำงานเป็นช่างภาพ’
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของ Emma คือการที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Everest ขณะที่อยู่บนเครื่องบิน ‘ฉันกำลังบินไปนิวซีแลนด์ หนังเรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ฉันมากเหมือนกับภาพถ่ายงานคอนเสิร์ตภาพแรกของฉัน ฉันรู้แค่ว่าฉันจะต้องไปปีนเขา มีผู้คนมากมาย รวมทั้งแฟนของฉันในเวลานั้นต่างก็บอกว่าฉันไม่ควรทำแบบนี้ พวกเขาบอกว่าการปีนเขามันอันตรายเกินไปสำหรับผู้หญิง แต่ฉันก็ทำอยู่ดี หลังจากที่ปีนเขาที่สูงที่สุดในยุโรปแล้ว ฉันรู้สึกว่าฉันอยากปีนต่อไปอีก ฉันเลยตั้งเป้าหมายที่จะปีนเขาลูกอื่นๆ ที่สูงที่สุดในยุโรปภายในหนึ่งปี แล้วฉันก็เริ่มลงมือ และยิ่งไปกว่านั้น ฉันปีนเขาไปแล้ว 61 ลูก’
ในปัจจุบัน เธอแบ่งเวลาระหว่างการถ่ายภาพกับการปีนเขา ‘ฉันใช้เวลาครึ่งหนึ่งถ่ายภาพ และอีกครึ่งหนึ่งปีนเขา’ เธอยังคงเผชิญหน้ากับความลําเอียงต่างๆ มากมาย ‘เมื่อเกิดมาเป็นผู้หญิง คุณจะได้รับการสั่งสอนให้เกรงกลัวต่อการผจญภัยแบบนี้ การเดินทางคนเดียวและการทำสิ่งต่างๆ ที่เสี่ยงภัยเป็นเรื่องที่อันตราย ฉันปฏิเสธที่จะยอมรับในข้อนี้ ฉันเดินทางไปสถานที่รกร้างและไม่เคยรู้สึกกลัวเลย เพียงเพราะว่าคุณเป็นผู้หญิงไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่’
เธอมีสตูดิโอของตัวเองที่มีแต่เพื่อนร่วมงานผู้หญิง ‘ฉันเคยว่าจ้างพนักงาน 12 คน แต่ตอนนี้มันลำบากไปหน่อยเพราะฉันต้องไปปีนเขา ฉันเลยกลับมาว่าจ้างพนักงาน 3 คนเหมือนเดิม ซึ่งมีนักวางแผน ช่างภาพ และผู้ช่วย แล้วฉันยังดูแลนักศึกษาฝึกงานอีกด้วย เมื่อฉันว่าจ้างพนักงานคนใหม่ๆ ในบรรดาจดหมาย 100 ฉบับที่ฉันได้รับนั้น ฉบับที่ผู้หญิงเขียนเป็นจดหมายที่ดีที่สุด การเป็นช่างภาพอาจทำให้รู้สึกเหงามากๆ ได้ ดังนั้นการทำงานเป็นทีมก็เป็นเรื่องที่ดี ได้ตอบรับงานของกันและกัน และฟังความคิดเห็นของผู้อื่น’
เธอทำงานกับกล้อง Panasonic LUMIX เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ‘ฉันได้ลองใช้กล้อง Panasonic LUMIX S1R และประทับใจมากกับคุณภาพของภาพ เหมือนได้เปิดโลกใหม่ก็ว่าได้! เมื่อฉันปีนเขา ฉันจะใช้กล้อง Panasonic LUMIX GX9 ฉันคล้องกล้องไว้ที่คอตลอดเวลาเพราะถ้าเก็บไว้ในกระเป๋าแล้วฉันก็แทบจะไม่ได้ใช้มันเลย ดังนั้นกล้องจะต้องทนทานค่อนข้างมาก ทั้งต่อฝน หิมะ และการกระแทกกับหิน และยังคงทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้ว่าจะผ่านไปเป็นปีในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก’
Emma Svensson
Emma Svensson เริ่มอาชีพช่างภาพในปี 2002 ด้วยการถ่ายภาพศิลปินและคอนเสิร์ต อีกทั้งยังสร้างชื่อในวงการถ่ายภาพแฟชั่นอีกด้วย นอกจากจะครองสถิติโลกในการปีนภูเขา 61 ลูกในยุโรปแล้ว เธอยังเป็นเจ้าของสตูดิโอถ่ายภาพงานชุกที่ว่าจ้างช่างภาพหญิงจำนวนไม่น้อย เธอเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมและการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้หญิงในวงการถ่ายภาพ และมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทำตามความฝันของตนเอง.